นักวิ่งที่เพิ่งลงสนามไม่นานมักพบปัญหาวิ่งไปสักพักก็ได้รับ บาดเจ็บจากการวิ่ง ที่บริเวณหน้าแข้ง หรือข้อเท้า ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณขาทั้งสองข้างไม่สามารถรับแรงกระแทกของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เนื้อเยื่อหดตัว ขาดความยืดหยุ่น และเกิดการอักเสบขึ้น บางคนหยุดวิ่งเพียงวันสองวัน หรือกินยาคลายกล้ามเนื้อแล้วดีขึ้นก็กลับไปวิ่งทันที โดยไม่ได้แก้ปัญหาเนื้อเยื่ออักเสบให้คืนสภาพ อาจส่งผลให้กลายเป็นภาวะบาดเจ็บเรื้อรังได้
สาเหตุของอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการวิ่ง มีหลากหลาย ซึ่งโดยเบื้องต้นสามารถแบ่งได้ออกเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้สองประเภท คือ
- การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ เช่น ข้อเท้าพลิก หกล้ม ชนสิ่งกีดขวางต่างๆ
- การบาดเจ็บจากการวิ่งที่เกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อ ข้อต่อผิดวิธี หรือมากจนเกินไป
- Dynamic Stretching: การอุ่นเครื่องร่างกายสำหรับการวิ่งจะใช้วิธีที่เรียกว่า Dynamic Stretching คือการยืดเหยียดแบบขยับ เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อและข้อต่อให้ได้ยืดหดอย่างเหมาะสม ร่วมกับการวิ่งเหยาะ ๆ ให้หัวใจได้เต้นในระดับ 50% ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด โดยใช้เวลาเพียง 10-15 นาที นักวิ่งจะรู้สึกร่างกายอุ่นและพร้อมสำหรับการวิ่งมากขึ้น
- Static Stretching: หลังวิ่ง นักวิ่งควรลดความเร็วจนเป็นการเดินก่อนและค่อยๆ พัก เพื่อให้หัวใจค่อยๆ ทำงานเบาลง เมื่อหายเหนื่อยก็ต่อด้วยการทำ Static stretching หรือการยืดเหยียดแบบค้าง เพราะหลังจากที่เราใช้กล้ามเนื้อหนักๆ มาระยะเวลาหนึ่ง กล้ามเนื้อจะเกิดการตึงตัวการยืดเหยียดแบบค้าง จะช่วยคลายกล้ามเนื้อออก และช่วยขับของเสียให้ออกไปจากกล้ามเนื้อได้เร็วขึ้นด้วย
การรักษาอาการ บาดเจ็บจากการวิ่ง
สำหรับนักวิ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บเฉียบพลันควรยึดหลัก R.I.C.E ซึ่งก็คือ
- Rest การหยุดพัก เมื่อเกิดอาการ
- ICE ประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณที่บาดเจ็บ 2-3 วันแรก
- Compress การพันกระชับให้บริเวณที่บาดเจ็บเคลื่อนไหวน้อยที่สุด
- Elevation ยกเท้าสูง ให้เลือดไหลเวียน
ฉะนั้น หากเกิดอาการบาดเจ็บบริเวณใดจากการวิ่งก็ตาม ถ้าหยุดพักแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวิเคราะห์และให้คำแนะนำการรักษาได้อย่างตรงจุด